5 ข้อ ควรรู้ก่อนซื้อประกันบ้าน

5 ข้อ ควรรู้ก่อนซื้อประกันบ้าน

ในบางครั้งเราอาจมีความจำเป็นต้องทำประกันบ้าน เช่น บ้านของเราตั้งอยู่ในบริเวณมีโอกาสเกิดเพลิงไหม้ หรือเกิดอุบัติภัยได้ง่าย หากเราได้ทำประกันบ้านไว้เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทำให้บ้านเสียหาย เราจะได้มีเงินก้อนมาจัดการซ่อมบ้านของเราได้ โดยที่ไม่เดือดร้อนเงินเก็บของเรามากนัก หรือในกรณีที่เราจะใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงินกับธนาคาร ซึ่งธนาคารมักจะให้เราซื้อประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองบ้านหลังที่เราใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคาร ดังนั้นเราควรจะมีความรู้เกี่ยวกับประกันบ้านไว้บ้างเพื่อจะได้ทราบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขของการทำประกันบ้าน 5 ข้อ ดังนี้ค่ะ

1. ประกันบ้านที่อยู่อาศัยคุ้มครองอะไรบ้าง

ประกันบ้าน, ประกันภัยบ้านหรือประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยที่เราเรียกกันอยู่นี้ หลายๆ คนมักจะเข้าใจว่าคุ้มครองเฉพาะแค่ไฟไหม้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วความคุ้มครองยังมีมากกว่านี้ โดยกฎหมายประกันบ้านจะให้ความคุ้มครองภัยต่างๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

1.1 ความคุ้มครองหลัก 6 ภัย

  • ไฟไหม้ 
  • ฟ้าผ่า (รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า)
  • ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำหรือการล้นออกมา หรือไอน้ำจากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้ามาภายในบ้านหรืออาคารจากความเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ 

***แต่หากเป็นน้ำไหลบ่า น้ำท่วมจากภายนอกอาคาร หรือน้ำที่ซึมผ่านเข้ามาเข้ามาทางผนัง ทางฐานรากและพื้นของอาคาร การล้างท่อระบายน้ำ การแตกหรือรั่วไหลจากระบบท่อประปาใต้ดินหรือท่อดับเพลิงใต้ดิน ซึ่งเป็นท่อเมนซึ่งอยู่นอกสถานที่ที่เอาประกันภัยหรือระบบฉีดพ่นน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ ประกันจะไม่คุ้มครองนะคะ

  • ภัยจากการเฉี่ยว และหรือการชนของยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควายเป็นต้น
  • ภัยจากอากาศยาน หรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน
  • ภัยระเบิดของแก๊สที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

1.2. ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ 4 ภัย

  • ภัยลมพายุ
  • ภัยน้ำท่วม
  • ภัยจากแผ่นดินไหว
  • ภัยจากลูกเห็บ

ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ 4 ข้อนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นภัยที่อยู่ในความคุ้มครองของประกันบ้านเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง โดยมีเงื่อนไขว่า หากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยตามจริงแต่เมื่อรวมความเสียหายจากทั้ง 4 ภัยรวมกันแล้วจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ไม่เกิน 20,000 บาท/ปี

2. ภัยธรรมชาติและภัยอื่นๆ ที่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมแยกต่างหากได้

เนื่องจากเงินชดเชยกรณีที่ความเสียหายเกิดจากภัยธรรมชาติ4 แบบที่มีเพิ่มเข้ามาให้ในความคุ้มครองของประกันภัยบ้านนั้น จ่ายรวมกันทั้งหมดแล้วสูงสุดต้องไม่เกิน 20,000บาท/ปี เท่านั้น ซึ่งอาจจะน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมาก และยังไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายจากภัยธรรมชาติและภัยอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นหากเราต้องการได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายมากกว่านี้เราก็สามารถซื้อความคุ้มครองเฉพาะภัยธรรมชาติหรือภัยอื่นๆ หรือที่เรียกรวมๆว่า“ภัยเพิ่ม” ได้เป็นแต่ละรายการไปดังนี้

  • ภัยลมพายุ
  • ภัยจากลูกเห็บ
  • ภัยจากควัน
  • ภัยแผ่นดินไหว
  • ภัยน้ำท่วม
  • ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน
  • ภัยเนื่องจากป่าเถื่อนและการกระทำด้วยเจตนาร้าย
  • ภัยระอุ
  • ภัยระอุที่มีการลุกไหม้ / ระเบิด
  • ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า

3. ควรทำประกันบ้านที่ทุนประกันเท่าไหร่ 

ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแล้ว บริษัทประกันจะจ่ายเงินหรือสินไหมชดเชยค่าเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่ทำประกัน เท่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงถึงแม้ว่าเราจะทำประกันไว้ที่ทุนประกันสูงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม บริษัทผู้รับประกันก็จะจ่ายชดเชยให้แค่เท่ากับที่เสียหายจริงเท่านั้นค่ะ

ในกรณีที่เราต้องการทำประกันบ้านระยะยาวกว่าหนึ่งปี เราควรทำประกันบ้านไว้ที่เงินทุนประกันสูงอย่างน้อยเท่ากับมูลค่าของทรัพย์สินที่จะทำประกัน โดยคิดว่าเป็นราคาของใหม่ด้วย(คิดว่าเป็นบ้านใหม่) เพราะปกติมูลค่าของทรัพย์สินหรือค่าก่อสร้างซ่อมแซมมักจะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าหากเราอยากทราบว่าบ้านใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกับบ้านที่เราจะทำประกันนั้น ณ ปัจจุบันราคาเท่าไหร่ เราสามารถดูราคาประเมินค่าก่อสร้างได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/value/value.php

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราต้องการทุนประกันน้อยกว่าราคาบ้าน ณ ปัจจุบัน ก็สามารถทำได้ค่ะ แต่ทุนประกันต้องไม่ต่ำกว่า 70% ของมูลค่าบ้าน ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประกันอัคคีภัยเพราะภายใต้เงื่อนไขนี้หากเกิดความเสียหายกับหลักทรัพย์ที่ประกันไว้ทั้งหมด ประกันจะจ่ายเงินหรือสินไหมทดแทนตามทุนประกันที่เราทำไว้เต็มจำนวนแต่ถ้าเราเลือกที่จะทำทุนประกันต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่น ตัวบ้านราคาประเมิน 2 ล้านบาท ต้องการทำทุนประกันที่ 1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 50% ของราคาบ้าน ในกรณีนี้หากเกิดความเสียหายกับหลักทรัพย์ที่ประกันไว้ทั้งหมด แทนที่เราจะได้เงินชดเชยเต็มจำนวน 1 ล้านบาท ตามทุนประกันที่ระบุไว้ เราจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพียง 5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งเท่ากับ 50% ของทุนประกันบ้านที่เราทำไว้ (1,000,000 X 50%) เพราะตามหลักเกณฑ์จะถือว่าการที่เราเลือกทำทุนประกันน้อยกว่า 70% นั้น คือ เรายินยอมรับความเสี่ยงบางส่วนเอาไว้เอง จะเห็นได้ว่าในกรณีเดียวกันนี้ถ้าเราระบุว่าต้องการทุนประกันอย่างน้อย 70% ของราคาบ้าน ซึ่งเป็นเงิน 1.4 ล้านบาท และถ้าหากเกิดอัคคีภัยเสียหายทั้งหมด เราก็จะได้เงินชดเชยเต็มจำนวน 1.4 ล้านบาท (ไม่ใช่ 70% ของ ทุนประกัน 1.4 ล้านบาท)

ส่วนกรณีที่เราทำประกันอัคคีภัยบ้านหลังเดียวกันมากกว่า 1 บริษัทประกัน เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ทุกบริษัทที่เราทำประกันภัยไว้ก็จะช่วยกันจ่ายเงินสินไหมชดเชยให้เราซี่งรวมกันแล้วก็ยังคงไม่เกินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงค่ะ

4. ในกรณีเราเช่าบ้านอยู่ จะทำประกันภัยบ้านได้หรือไม่

ผู้เช่าสามารถทำประกันบ้านที่เช่าอยู่นั้นได้ค่ะ แต่เมื่อเกิดอัคคีภัยหรือภัยพิบัติขึ้น เงินชดเชยความเสียหายจะตกแก่เจ้าของบ้าน ยกเว้นว่าในกรมธรรม์นั้นได้มีการระบุรับประกันทรัพย์สินภายในบ้านซึ่งเป็นของผู้เช่าไว้ด้วย ผู้เช่าก็จะได้รับเงินชดเชยในส่วนนั้นไป

5. เราสามารถทำประกันทรัพย์สินภายในบ้านแยกต่างหากจากตัวบ้านได้หรือไม่

ในการทำประกันบ้านนั้น ส่วนใหญ่จะรับประกันเฉพาะตัวบ้านเท่านั้น ไม่รวมถึงทรัพย์สินภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เครื่องครัว เครื่องดนตรี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถซื้อความคุ้มครองทรัพย์สินในบ้านอื่นๆเพิ่มเติมได้ โดยระบุลงไปว่าทรัพย์สินที่เราจะทำประกันนั้นมีอะไรบ้าง หากบริษัทประกันรับประกันทรัพย์สินนั้น บริษัทฯก็จะจ่ายค่าสินไหมหรือเงินชดเชยให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินทุนประกันที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นหากผู้เช่าต้องการประกันเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในบ้านนั้น ผู้เช่าอาจสามารถทำประกันเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของผู้เช่าแยกต่างหากได้

หากไม่รู้ว่าจะทำประกันบ้านที่ไหนดี ปรึกษากับ “โปรประกัน ทีมงาน น้องกันเอง” ได้นะคะ ยินดีให้คำแนะนำปรึกษาค่ะ เรามีบริการรับประกันทรัพย์สินภายในบ้าน แยกจากประกันบ้าน ด้วยนะคะ