เคลมประกันได้ไหม ถ้าคนขับไม่ใช่เจ้าของรถ

เคลมประกันได้ไหม ถ้าคนขับไม่ใช่เจ้าของรถ

             เนื่องจากการทำประกันภัยรถยนต์จะให้ความคุ้มครองกับผู้เอาประกันแล้ว ยังให้ความคุ้มครองรวมไปถึงผู้ขับขี่ ผู้ที่โดยสารที่นั่งในรถเราและคู่กรณีหรือบุคคลภายนอก กรณีหากบาดเจ็บหรือเสียชีวิตและรวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สิน ฯลฯ โดยจะชดใช้ให้ตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินวงเงินที่ระบุไวในกรมธรรม์ หลายคนอาจจะสงสัยว่าเวลาที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วคนขับไม่ใช่เจ้าของรถสามารถเคลมกับประกันได้หรือไม่ ลองดูจากบทความนี้เลยค่ะ 

 

บางครั้งเราอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องให้คนในครอบครัวหรือคนอื่นยืมรถไปใช้แล้วหากไปเกิดอุบัติเหตุ ถ้าเจ้าของรถได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจไว้ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม ประกันภัยยังคงให้ความคุ้มครองถึงแม้คนขับจะไม่ใช่เจ้าของรถก็ตาม แต่มีข้อแม้ว่าผู้ขับขี่จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถและต้องทำถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ต้องมีใบขับขี่ ต้องไม่นำรถไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ไม่ขับขี่ในระหว่างมึนเมา(ปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ฯลฯ โดยประกันภัยจะรับผิดชอบทั้งรถของผู้เอาประกัน(ขึ้นอยู่กับประเภทประกัน) และทรัพย์สินของคู่กรณีโดยไม่มีค่าเสียหายส่วนแรก ทั้งนี้ผู้เอาประกันไม่ได้ทำกรมธรรม์เป็นแบบระบุชื่อไว้

 

ประกันภัยรถยนต์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. ประกันภัยแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ 

สำหรับการทำประกันภัยรถยนต์แบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่นั้น จะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ขับขี่ ณ ตอนที่เกิดอุบัติเหตุก็ตาม โดยผู้ขับขี่นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถ(ผู้เอาประกัน)สามารถเคลมกับบริษัทประกันได้โดยไม่ต้องมีค่าเสียหายส่วนแรก ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 

  1. ประกันภัยแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ 

    สำหรับการทำประกันภัยรถยนต์แบบระชื่อนั้นจะทำได้เฉพาะประกันภัยประเภท1 โดยจะมีการกำหนดประเภทการใช้งานของรถยนต์ก็คือรถที่สามารถทำประกันแบบระบุชือได้นั้นจะต้องเป็นรถยนต์ที่ใช้งานแบบส่วนบุคคล มี 3 ประเภท คือ 

◎ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 

◎ รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล 

◎ รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 

ส่วนรถยนต์ที่ไม่สามารถทำประกันแบบระบุชื่อได้ก็คือรถยนต์ที่ใช้เพื่อการพาณิชย์หรือใช้รับจ้างสาธารณะ/ให้เช่า สามารถระบุชื่อผู้ขับขี่ได้สูงสุดไม่เกิน 2 ท่าน หรือจะระบุท่านเดียวก็ได้ โดยผู้ที่จะระบุชื่อจะต้องมีใบขับขี่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อดีของการทำประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่นั้นคือผู้เอาประกันจะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันทำให้ประหยัดค่าเบี้ยประกันลงด้วย ในส่วนของค่าเบี้ยประกันนั้นจะคำนวณตามความเสี่ยงของช่วงอายุของผู้ที่จะระบุ โดยจะกำหนดเงื่อนไขการได้รับส่วนลดตามอายุ ดังนี้ 

◎  อายุ 18-24 ปี ได้รับส่วนลด 5% (เสี่ยงมากสุดได้รับส่วนลดน้อยสุด) 

◎  อายุ 25-35 ปี  ได้รับส่วนลด 10% 

◎  อายุ 36-50 ปี  ได้รับส่วนลด 15% 

◎  อายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับส่วนลด 20% (เสี่ยงน้อยสุดได้รับส่วนลดมากสุด) 

** หมายเหตุ : กรณีระบุ 2 ท่าน ให้ยึดช่วงอายุของคนที่น้อยกว่าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณส่วนลด 

กรณีทำประกันแบบระบุชื่อนั้นเจ้าของรถ(ผู้เอาประกัน)จะต้องแน่ใจว่าคนที่ใช้รถนั้นจะต้องเป็นคนที่ระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์เท่านั้น หากเรายังไม่แน่ใจว่าในอนาคตอาจจะมีความจำเป็นจะต้องให้คนอื่นยืมรถไปใช้ กรณีนี้จะไม่แนะนำให้ทำแบบระบุชื่อ  เพราะหากเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนขึ้นมาแล้วผู้ขับขี่ ณ ตอนที่เกิดอุบัติเหตุนั้นไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุในกรมธรรม์ ผู้เอาประกันจะต้องร่วมรับผิดค่าเสียหายส่วนแรก  

 

โดยจะแยกเป็น 2 กรณี ดังนี้ 

1.ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายถูก : กรณีที่ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายถูกไม่ว่าผู้เอาประกันจะทำกรมธรรม์แบบระบุชื่อหรือไม่ระบุชื่อก็ตาม กรณีนี้เราจะต้องเป็นฝ่ายเรียกร้องค่าเสียหายจากทางคู่กรณี โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับความคุ้มครอง 

2.ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิด : กรณีที่ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิดก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปว่าจะเคลมไม่ได้ กรณีนี้สามารถเคลมกับบริษัทประกันได้ตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองในกรมธรรม์ เพียงแต่ผู้เอาประกันจะต้องร่วมรับผิดค่าเสียหายส่วนแรกเป็นจำนวนเงิน 8,000 บาท จ่ายให้กับบริษัทประกัน กรณีที่ “ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์” เพื่อให้บริษัทประกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับคู่กรณีและความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของเราด้วย 

โดยแบ่งเป็น  

◎ 2,000 บาท ของความเสียหายของทรัพย์สินของคู่กรณี 

◎ 6,000 บาท ของความเสียหายของตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันที่เกิดจากการชนหรือคว่ำ 

** หมายเหตุ : หากไม่ต้องการให้บริษัทประกันรับผิดชอบซ่อมตัวรถยนต์ของเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก 6,000 บาท (กรณีรถยนต์ของเราเสียหายเล็กน้อย) 

 

            หวังว่าเราคงไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไปหากต้องให้คนอื่นยืมรถไปใช้ เพราะเรายังคงได้รับความครองจากบริษัทประกันตามปกติ ยกเว้นถ้าเราทำประกันเป็นแบบระบุชื่อเอาไว้ก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกรณีเป็นฝ่ายผิดค่ะ ดังนั้นน้องกันแนะนำว่าก่อนการทำประกันเราควรคำนึงถึงการลักษณะการใช้รถของเราให้ดีก่อนนะคะ หากจำเป็นต้องใช้รถกันหลายคนแนะนำให้ทำแบบไม่ระบุชื่อดีกว่าจะได้ไม่มีค่าใช้จ่ายตามมาทีหลังด้วยค่ะ