เลือกทำประกันชีวิตแบบไหนดี ที่เหมาะกับเราที่สุด

เลือกทำประกันชีวิตแบบไหนดี ที่เหมาะกับเราที่สุด

หากคุณต้องการสร้างหลักประกันที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว ให้สามารถใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข ประกันชีวิตจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคุณที่จะเข้ามาช่วยในการวางแผนด้านการเงินแถมยังช่วงสร้างวินัยในการเก็บออมที่ดีให้กับเราอีกด้วย ซึ่งจะมีผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำในธนาคาร อีกทั้งยังมีความคุ้มครองชีวิตให้เราด้วย ลองศึกษารายละเอียดจากบทความนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะกับเรามากที่สุดค่ะ

การประกันชีวิต คือ

เป็นเครื่องมืออย่างนึงที่เข้ามาช่วยในการวางแผนทางการเงินในอนาคตให้งอกเงยขึ้นมาเป็นเงินก้อนใหญ่ ไว้ให้เราใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือยามเกษียณอายุที่ไม่มีรายได้ประจำ และยังมีความคุ้มครองชีวิตให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ(พิการ) ก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเสียชีวิตก่อนหรืออาจจะอยู่ครบตามที่ตกลงเอาไว้ในสัญญาประกันภัย บริษัทประกันก็จะคืนเงินก้อนหรือที่เรียกว่าทุนประกันตามที่เราทำไว้นั้นให้กับผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบประกันที่เลือกทำด้วย เนื่องจากประกันชีวิตเป็นสัญญาต่างตอบแทนระยะยาว จึงมีความคุ้มครองที่แตกต่างกันออกไป

ความหมายของประกันชีวิต (Life Insurance)

หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกันภัย ได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่า “เบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ให้กับบริษัทประกันชีวิต เพื่อซื้อความคุ้มครองการเสียชีวิต คลอบคลุมไปถึงการสูญเสียอวัยวะ การทุพพลภาพ การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือมีอายุยืนยาวจนครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ “ผู้รับผลประโยชน์หรือผู้เอาประกันภัยแล้วแต่กรณี ทั้งนี้เงื่อนไขความคุ้มครองจะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการเลือกซื้อตามความเหมาะสมของผู้เอาประกันภัยเป็นหลัก

ความคุ้มครองประกันชีวิตจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

ความคุ้มครองหลัก

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  •  คุ้มครองกรณีเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว
  •  คุ้มครองกรณีเสียชีวิตและสะสมเงินออมไปพร้อมกัน

ความคุ้มครองเพิ่มเติม

จะมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ความคุ้มครองกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือ พิการ ความคุ้มครองกรณีชดเชยรายได้ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเหล่านี้เพิ่มเติมจากกรมธรรม์หลักได้

การที่เราจะเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเรามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนอาจจะพิจารณาจากช่วงอายุ อาชีพที่ทำประจำ หรือ การใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยง เช่น ถ้าเราประกอบอาชีพค้าขาย อาชีพอิสระ หรือทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาชีพเหล่านี้จะไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เราอาจจะเลือกซื้อความคุ้มครองสุขภาพเพิ่มเติมได้ หากเจ็บป่วย ไม่สบายขึ้นมาจะได้มีวงเงินในการรักษาพยาบาลมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเราได้จะได้ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวของเราอีกด้วย ในเมื่อเรารู้ความหมายและหลักการของการทำประกันชีวิตเบื้องต้นแล้ว ต่อไปจะเป็นเรื่องของความคุ้มครองของประกันชีวิตแต่ละประเภทแต่ละแบบว่าจะมีผลประโยชน์และความคุ้มครองแตกต่างกันอย่างไรค่ะ

ประกันชีวิตจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท  ดังนี้

  1. ประเภทสามัญ (Ordinary Life Insurance) การประกันชีวิตรายบุคคลให้ความคุ้มครองชีวิตและออมทรัพย์จะมีทุนประกันตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ส่วนการชำระเบี้ยจะเป็นแบบรายปี รายหกเดือน รายสามเดือน หรือรายเดือน หลักการพิจารณารับประกันของประเภทสามัญนี้จะมีทั้งแบบตรวจสุขภาพและไม่ตรวจสุขภาพ จะขึ้นอยู่กับทุนประกันและช่วงอายุของผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทที่รับประกันภัย
  2. ประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance) การประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรมจะคล้ายกับประเภทสามัญ จะต่างกันตรงทุนประกันจะต่ำกว่า ทุนจะประมาณ 10,000 – 30,000 บาท ส่วนการชำระเบี้ยจะชำระแบบรายเดือน ประกันประเภทอุตสาหกรรมนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ โดยจะพิจารณาจากข้อมูลที่แถลงในใบคำขอเอาประกันภัย อาจจะมีเงื่อนไขกำหนดระยะเวลารอคอย(Waiting Period) 180 วัน มากำหนดในเรื่องของสุขภาพ ก็คือหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาดังกล่าว บริษัทก็จะไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับประโยชน์
  3. ประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance) การประกันชีวิตประเภทกลุ่มนี้จะต้องมีผู้เอาประกันภัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เหมาะสำหรับนายจ้างทำให้กับพนักงานบริษัทหรือพนักงานโรงงานเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน โดยหลักการพิจารณาจะดูจากความเสี่ยงภัยของบุคคลที่ร่วมทำประกันกลุ่มทั้งหมด โดยใช้ เพศ อายุ อาชีพ ทุนประกันภัย มาเป็นอัตราเฉลี่ย อัตราเบี้ยประกันภัยของประเภทกลุ่มนี้จะถูกกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม อาจจะตรวจสุขภาพหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและเงื่อนไขของบริษัทประกัน

ประกันชีวิตประเภทสามัญ จะแบ่งออกเป็น 5 แบบ ดังนี้

1.ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์(Endowment Insurance)

คือการประกันชีวิตที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา หรือ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตก่อนวันครบกำหนดสัญญา จะมีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองไว้แน่นอน เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี ฯลฯ ซึ่งประกันชีวิตแบบนี้เป็นการประกันชีวิตควบคู่ไปกับการออมทรัพย์

ตัวอย่าง นายสมหวังทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี หากนายสมหวังเกิดเสียชีวิตขึ้นมาก่อนในระหว่าง 20 ปี นั้น บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ แต่ถ้านายสมหวังมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา 20 ปี บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินผลประโยชน์ครบกำหนดสัญญาให้กับนายสมหวัง

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นี้ จะเป็นการออมทรัพย์แบบที่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่มีความเสี่ยง และยังช่วยสร้างวินัยในการเก็บออมที่ดีให้เราอีกด้วย แต่ทุนประกันไม่สูงเมื่อเทียบกับประกันแบบอื่นๆ ที่จ่ายเบี้ยในอัตราเท่ากัน อาจจะไม่เหมาะกับการทำเพื่อคุ้มครองชีวิต อย่าลืมคำนึงถึงการจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วย สัดส่วนที่เหมาะสมคือไม่เกิน 10% ของเงินเดือนนะคะ แต่ถ้าเรามีความสามารถในการออมมากกว่านั้นก็ได้ค่ะ

2.แบบชั่วระยะเวลา(Term Insurance)

เป็นการประกันชีวิตแบบนี้จะเน้นความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตเพียงอย่างเดียวเป็นแบบระยะสั้นไม่มีการสะสมทรัพย์รวมอยู่ด้วย สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี ฯลฯ ซึ่งแบบชั่วระยะเวลานี้จะให้ความคุ้มครองสูงเบี้ยประกันภัยถูก หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาของสัญญานั้น บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินผลประโยชน์คืนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ แต่หากผู้เอาประกันภัยมีอายุอยู่ครบสัญญาผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันภัย

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา จะมีข้อดีคือเราสามารถเลือกระยะเวลาคุ้มครองได้เองแล้วก็จ่ายเบี้ยตามจำนวนปีที่เราเลือกคุ้มครองได้เลย เบี้ยประกันประเภทนี้จะถูกสุด  แต่จะไม่มีมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ จะไม่มีเงินคืนเป็นการจ่ายแบบปีต่อปี

มูลค่าเงินสดกรมธรรม์(Cash Value) คือ มูลค่าที่เกิดขึ้นมากการที่เราจ่ายค่าเบี้ยประกันในแต่ละปี ยิ่งถ้าเราจ่ายมาหลายปีหรือใกล้จะครบกำหนดสัญญาประกันชีวิตก็จะยิ่งมีมูลค่าเงินสดสูงขึ้น แต่ถ้าเราทำการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนเวลาที่เหมาะสมมูลค่าเงินสดที่ได้ก็จะไม่คุ้มค่ากับที่จ่ายไป

3.แบบตลอดชีพ(Whole Life Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองระยะยาวโดยจะคุ้มครองให้เราตลอดชีวิต โดยเราต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี ฯลฯ หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตบริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายทุนประกันคืนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ แต่หากผู้เอาประกันมีอายุอยู่จนถึง 90 -99 ปี ผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับทุนประกันคืนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพนี้จะเน้นผู้รับผลประโยชน์หรือคนในครอบครัวที่เรารัก หากเราต้องจากไปก็จะมีเงินทุนประกันเป็นเงินก้อนให้กับครอบครัวได้ใช้ชีวิตต่อโดยไม่ลำบาก

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ข้อดีคือเบี้ยประกันค่อนข้างถูก แถมยังให้ความคุ้มครองยาวนาน เหมาะสำหรับคนที่เป็นผู้นำครอบครัวหรือเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว ถือว่าเป็นการวางแผนสร้างกองมรดกให้กับลูกหลาน

4.แบบบำนาญ(Annuity Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่เน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครองคล้ายกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่จะต่างกันตรงแบบสะสมทรัพย์จะมีเงินคืนในระหว่างสัญญา แต่ประกันแบบบำนาญจะไม่มีเงินคืนให้ระหว่างทาง แต่จะคืนให้เป็นเงินบำนาญให้เราเท่าๆกันทุกปีต่อเมื่อเกษียณช่วงอายุตั้งแต่ 55 หรือ 65 ปี ไปจนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี แทน โดยที่เราต้องจ่ายเบี้ยตั้งแต่เริ่มทำประกันไปจนถึงปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ หรืออาจจะจ่ายตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี 20 ปี ฯลฯ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตช่วงก่อนเกษียณอายุจะได้รับเงินชดเชยที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายมาแล้วทั้งหมด หากผู้เอาประกันเสียชีวิตหลังเกษียณอายุก็จะได้รับเงินชดเชยเป็นมูลค่าเงินปัจจุบันของเงินบำนาญในส่วนที่ยังไม่ได้รับหรือเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมาหักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบและเงื่อนไขของบริษัทประกัน

ประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ ถือเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในชีวิตระยะยาวได้ดี เหมาะสำหรับทำไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ แต่เนื่องจากเป็นการออมไว้ใช้หลังเกษียณเราอาจจะต้องคำนวณดูว่าหลังจากเกษียณแล้วเราอยากได้เงินมาใช้ในแต่ละเดือนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ เราจะได้มาออกแบบเงินบำนาญให้ได้เท่ากับจำนวนเงินที่เราอยากได้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณเพื่อให้เพียงพอกับการดำรงชีพหลังเกษียณได้โดยไม่ลำบาก

5.แบบควบการลงทุน(Unit Link)

เป็นประกันชีวิตที่เอาเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปส่วนหนึ่งนำไปลงทุนในกองทุนรวม โดยที่เราสามารถเลือกกองจัดพอร์ตการลงทุนได้เอง ส่วนเบี้ยที่เหลือจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการคุ้มครองชีวิต ซึ่งแบบควบการลงทุนนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบอื่นๆ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดระยะเวลาการจ่ายเบี้ยและระยะเวลาคุ้มครองเองได้ แต่จะมีความเสียงในการลงทุนผลตอบแทนไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ

ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน จะเหมาะกับคนที่มีแบบประกันเป็นเงินออมที่มั่นคงอยู่แล้ว เพราะแบบนี้จะมีความเสี่ยงจึงเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เนื่องจากผลตอบแทนไม่แน่นอน แต่จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง มีอิสระในการกำหนดและปรับเบี้ยเองได้

เรามาดูกันว่าประกันชีวิตแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร และแบบไหนจะเหมาะกับเป้าหมายเรามากที่สุด จากข้อมูลด้านล้างนี้ค่ะ

  • สะสมทรัพย์  การันตีผลตอบแทนใระยะยาวมีเงินคืน แต่เบี้ยสูง และ ผลตอบแทนต่ำ
  • ชั่วระยะเวลา สามารถเลือกระยะเวลาคุ้มครองเองได้เบี้ยถูก แต่เบี้ยประกันจะเป็นแบบจ่ายทิ้งและ ไม่มีมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์
  • ตลอดชีพ มีความคุ้มครองตลอดชีพรวมถึงค่าเบี้ยคงที่ แต่ผลตอบแทนจะไม่สูงและไม่เหมาะจะนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสด เพราะทำให้เสียความคุ้มครอง
  • บำนาญ เป็นการสร้างเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณอายุได้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 200,000 บาท แต่ผลตอบแทนและความคุ้มครองต่ำหากต้องการเวนคืนจะได้เงินน้อยกว่าที่จ่ายไปอีกทั้งเบี้ยประกันภัยจะค่อนข้างแพง
  • ควบการลงทุน สามารถกำหนดเบี้ยและทุนประกันเองได้โอกาสได้ผลตอบแทนสูงมีความยืดหยุ่นสูงแต่มีความเสี่ยงจากการลงทุนไม่การันตีผลตอบแทนมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ

สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีปี 2563

เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป

สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดบุคคลธรรมดาสูงสุด 100,000 บาท

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยมีขั้นตอนการคำนวณดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 นำเบี้ยประกันชีวิตรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่ทั้งนี้ หากเราไม่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่เหลือจากขั้นตอนที่ 1 ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,00 บาท และเมื่อรวมกับเงินจ่ายเข้ากองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ข้อยกเว้นของประกันชีวิตในการจ่ายผลประโยชน์

  1. ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันตาย

เป็นข้อยกเว้นในเรื่องการจ่ายเงินเอาประกันหรือทุนประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุในกรมธรรม์ต่อเมื่อผู้เอาประกันโดนผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา แต่หากมีระบุผู้รับผลประโยชน์มากกว่า 1 คน และไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย บริษัทประกันจะจ่ายให้ตามสัดส่วน

  1. ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี

นับจากวันที่ทำสัญญา หรือวันต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย

  1. การปกปิดข้อความจริงและแถลงข้อความเท็จ

การที่ผู้เอาประกันปกปิดหรือแถลงข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงในใบคำขอเอาประกันภัยประกันชีวิตซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณา มีผลทำให้บริษัทประกันสามารถปฎิเสธความคุ้มครองได้โดยไม่จ่ายเงินให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบอกล้างสัญญาภายใน 2 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาประกันภัย หรือวันต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย

  1. ผู้เอาประกันขาดการชำระเบี้ยประกัน

การที่ผู้เอาประกันชำระค่าเบี้ยประกันไม่ต่อเนื่องหรือขาดส่งค่าเบี้ยประกัน เกินระยะเวลาผ่อนผัน 31 วัน มีผลทำให้กรมธรรม์ขาดต่อผู้เอาประกันก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องทำให้เสียผลประโยชน์ไป ซึ่งกรมธรรม์ทุกฉบับ จะมีแนวทางให้สำหรับผู้เอาประกันที่จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว โดยมีแนวทางให้เลือก 3 แนวทาง ดังนี้

  1. การเวนคืนมูลค่าเงินสดคือการหยุดจ่ายค่าเบี้ยแล้วได้เงินก้อนคืนทันที แต่จะได้คืนมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้วด้วย โดยจะยึดจากตารางเวนคืนในกรมธรรม์ที่เราถืออยู่ และสัญญานั้นถือเป็นอันสิ้นสุดลงกรมธรรม์ก็จะถือยกเลิกไป
  2. การใช้มูลค่าเงินสำเร็จคือการหยุดจ่ายเบี้ยประกันแต่กรมธรรม์ยังคุ้มครองต่อไปจนครบสัญญาเหมือนเดิม แต่ความคุ้มครองของเราจะลดลง และอาจจะได้เงินก้อนคืนหรืออาจจะไม่ได้คืนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้วเทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย โดยทุนประกันใหม่สามารถดูได้จากตารางมูลค่าการใช้เงินสำเร็จที่แนบอยู่ในกรมธรรม์
  3. การขยายระยะเวลาคือการหยุดจ่ายเบี้ย แต่ยังมีความคุ้มครองอยู่เหมือนเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะน้อยลงกว่าเดิม อาจจะได้เงินก้อนคืนทันทีหรืออาจจะได้เงินตอนครบสัญญาหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย โดยดูได้จากตารางมูลค่าขยายระยะเวลาในกรมธรรม์
  4. การเสียชีวิตในช่วงระยะเวลารอคอย

กรมธรรม์บางประเภทที่ชำระเบี้ยแบบรายเดือนมีทุนประกันต่ำ และไม่มีการตรวจสุขภาพผู้เอาประกัน ซึ่งจะมีระยะเวลารอยคอย 180 วัน นับจากวันทำสัญญาประกันภัยหรือวันต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย หากผู้เอาประกันเสียชีวิตโดยปกติทั่วไปในช่วงระยะเวลารอคอย บริษัทจะคืนแค่เบี้ยที่ชำระไปแล้วให้กับผู้รับผลประโยชน์ แต่ถ้าหากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบริษัทถึงจะคืนทุนประกันให้

หวังว่าทุกท่านคงจะเลือกแบบประกันชีวิตที่ตรงกับเป้าหมายและเหมาะสมตรงกับความต้องการของเราได้แล้ว ควรมาวางแผนในการชำระค่าเบี้ยประกันของเราด้วยนะคะ เนื่องจากประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาวจะต้องจ่ายเบี้ยต่อเนื่องกันหลายปี เพื่อคงสถานะความคุ้มครองเอาไว้อย่างต่อเนื่องจะได้ไม่ขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตควรศึกษาความคุ้มครอง เงื่อนไข สิทธิประโยชน์และข้อยกเว้นโดยละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ หากคุณกำลังมองหาที่ปรึกษาที่ดีโดยทีมงานมืออาชีพ สามารถสอบถามผ่านทีมงานน้องกันเอง ยินดีให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่องค่ะ